วันนี้ (16 ส.ค.64) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงการขยายตัวเศรษฐกิจไทย GDP ในไตรมาส 2/64 ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 และขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64
ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2/64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปีก่อน มาจากการบริโภคภาคเอกชน ที่ขยายตัว 4.6% และการลงทุนรวมขยายตัว 8.1% โดยการลงทุนจากภาคเอกชนขยายตัว 9.2% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 5.6% ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 36.2%
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีแรกขยายตัวราว 2% จากฐานปีก่อนที่ต่ำผิดปกติ และมีการขยายตัวในบางสาขาสำคัญ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคส่งออกเป็นหลัก ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์โควิดรุนแรงขึ้นมาก และมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้กระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชน การส่งออก ตลาดแรงงาน ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น สภาพัฒน์ได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ลงมาเหลือ 0.7-1.2% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1% จากประมาณการเดิมคาดว่าจะเติบโต 1.5-2.5% โดยมีสมมติฐานว่าการแพร่ระบาดภายในประเทศผ่านพ้นจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 3/64 หรือก่อนสิ้นเดือนกันยายนนี้ และสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมในหลายพื้นที่ได้มากขึ้น ขณะที่การแพร่ระบาดในต่างประเทศไม่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ถดถอย แต่โมเมนตัมของการขยายตัวลดลงจากผลกระทบสถานการณ์โควิดระบาดหนักในวงกว้างตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งหากสถานการณ์ดีขึ้นเศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวอย่างช้าๆ